งาขี้ม้อน ( PERILLA )

PERILLA 



🔺งาขี้ม้อน🔺
งาขี้ม้อน” หรือ “งาขี้ม่อน” เมล็ดกลมขนาดเล็ก สีน้ำตาลหม่น เป็นพืชจำพวกเดียวกับกะเพรา โหระพา ใบแมงลัก ปลูกกันมากในภาคเหนือ โดยนิยมนำมาทำขนมชื่อ “ข้าวหนุกงา” ที่นำงาขี้ม้อนมาคั่วให้หอม โขลกกับเกลือ แล้วนำมาคุลกกับข้าวเหนียวร้อน ๆ ปัจจุบันมีการนำมาสกัดเป็นน้ำมันงาขี้ม้อน รวมถึงนำไปผสมในขนมปัง เค้ก หรือสโคน เพื่อเพิ่มความอร่อย และเพิ่มคุณประโยชน์ให้เมนูนั้นๆ งาขี้ม้อนช่วยควบคุมคอเลสตอรอล ป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด มีผลวิจัยพบว่างาขี้ม้อนอุดมไปด้วยโอเมก้า - 3 ที่ช่วยบำรุงสมอง
งาขี้ม้อนชื่อสามัญ : Perilla
ชื่อวิทยาศาสตร์  : Perilla frutescens (L.) Britton (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ocimum frutescens L.) จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAEหรือ LABIATAE)
ชื่อท้องถิ่น : งามน (แม่ฮ่องสอน), งาขี้ม้อน งาปุก (คนเมือง), แง (กาญจนบุรี), นอ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน, กะเหรี่ยงเชียงใหม่), น่อง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ง้า (ลัวะ), งาเจียง (ลาว), งาม้อน 

🔼ลักษณะของงาขี้ม้อน🔼

ต้นงาขี้ม้อน จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุก มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขา ต้นมีกลิ่นหอม เป็นสันสี่เหลี่ยมมน ๆ และระหว่างเหลี่ยมเป็นร่องตามยาว มีขนยาวละเอียดสีขาวขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่น เมื่อโตเต็มที่โคนต้นจะเกลี้ยง โคนต้นและโคนกิ่งจะแข็ง


ต้นงาขี้ม้อนใบงาขี้ม้อน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ถึงรูปไข่กว้าง หรือรูปกลม ปลายใบเรียวแหลมหรือแหลมเป็นติ่งยาว โคนใบกลม ป้าน หรือตัด ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบเป็นสีเขียวอ่อน ท้องใบมีสีอ่อนกว่าหลังใบ แผ่นใบมีขนนุ่มสีขาวทั้งสองด้าน ตามเส้นใบมีขนอยู่หนาแน่น ท้องใบมีต่อมน้ำมัน ส่วนก้านใบมีขนยาวขึ้นหนาแน่น


ดอกงาม้อนดอกงาขี้ม้อน ออกดอกเป็นช่อกระจะตามง่ามใบและที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก ริ้วประดับดอกย่อยลักษณะเป็นรูปไข่และไม่มีก้าน โคนริ้วประดับมีลักษณะกลมกว้าง ขอบเรียบ และมีขน ส่วนปลายเรียวแหลม ส่วนดอกย่อย มีขนสีขาวขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่น กลีบดอกเป็นสีขาวเชื่อมติดกันเป็นหลอดทรงกระบอกที่ปลายแยกเป็นปาก ด้านนอกกลีบดอกมีขน ส่วนด้านในมีขนเรียงเป็นวงอยู่กึ่งกลางหลอด ปากบนปลายมีลักษณะเว้าเล็กน้อย ส่วนปากล่างมีหยัก 3 หยัก ปลายมนหยักกลางใหญ่กว่าหยักอื่น ๆ โดยเฉพาะหยักนี้ด้านในจะมีขน เมื่อดอกบานกลีบนี้จะกางออก ดอกมีเกสรเพศผู้จะเรียงเป็นคู่ ๆ โดยคู่บนจะสั้นกว่าคู่ล่างเล็กน้อย ก้านเกสรมีลักษณะเกลี้ยง ส่วนอับเรณูด้านบนจะติดกัน ส่วนด้านล่างกางออก จานดอกเห็นได้ชัดเจน มีรังไข่และมีพูกลม ๆ ส่วนก้านเกสรเพศเมียที่ปลายจะแยกเป็นแฉก 2 แฉกและไม่มีขน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 แฉก แฉกกลางด้านบนจะสั้นกว่าแฉกอื่น ๆ ด้านนอกมีขนและมีต่อมน้ำมัน ส่วนด้านในมีขนยาวเรียงเป็นวงรอบปากหลอด เมื่อดอกเจริญไปเป็นผลแล้ว กลีบเลี้ยงจะมีขนาดใหญ่ขึ้น

ผลงาขี้ม้อน ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับขนาดเล็ก ผลแข็งเป็นสีน้ำตาลหรือสีเทาและมีลายเป็นรูปตาข่าย ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม เมล็ดมีลักษณะกลม

🔼ประโยขน์งาขี้ม้อน🔼

    Image result for งาม้อน
  1. เมล็ดหรือน้ำมันสกัดจากเมล็ดใช้กินเป็นยาชูกำลัง โดยใช้เมล็ดงาขี้ม้อน 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำดื่มเช้าเย็น (น้ำมันจากเมล็ด, เมล็ด)
  2. เมล็ดช่วยลดไขมันในเลือด โดยใช้เมล็ดงาขี้ม้อน 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำดื่มเช้า, เย็น (เมล็ด)
  3. ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น ด้วยการใช้เมล็ดงาขี้ม้อน 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำดื่มเช้า, เย็น (น้ำมันจากเมล็ด, เมล็ด)
  4. ใบและยอดอ่อนช่วยแก้อาการไอ แก้หวัด (ใบ, ยอดอ่อน)
  5. ช่วยแก้อาการท้องผูก ด้วยการใช้เมล็ดงาขี้ม้อน 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำดื่มเช้า, เย็น (น้ำมันจากเมล็ด, เมล็ด)
  6. ช่วยในการย่อยอาหาร (ใบ, ยอดอ่อน)
  7. น้ำมันจากเมล็ดนำมาทอดผสมกับเหง้าไพล ใช้เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (น้ำมันจากเมล็ด)
  8. น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากใบสดช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอกได้ (น้ำมันหอมระเหยจากใบ)
  9. เมล็ดนำมาบีบเอาน้ำมันใช้เป็นยาทานวด แก้อาการปวดขัดข้อกระดูก (เมล็ด)
  10. เมล็ดนำมาตำใช้เป็นยาประคบแก้อาการข้อพลิก (เมล็ด)

🔼ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของงาขี้ม้อน🔼

  • สารสำคัญที่พบในงาขี้ม้อน ได้แก่ Anthocyanins, Aromadendrene, Campesterol, Bergamotene, Caryophyllene, Glucoside, Limonenem Linalool, Odimene, Perillene, Pinene, Pulegone, Sabinene, Sitosterol, Stigmasterol, Terpinolene เป็นต้น
  • ดอกงาขี้ม้อนมีสาร Flavonoids ที่ช่วยกำจัดกลิ่นที่ผม
  • น้ำมันงาขี้ม้อน มีฤทธิ์ต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย
  • งาขี้ม้อนมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ไวรัส ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย ช่วยเพิ่มการบีบตัวของลำไส้ มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ลดบวม และมีฤทธิ์ในการลดระดับคอเลสเตอรอล ลดไตรกลีเซอไรด์ (เข้าใจว่าคือส่วนของเมล็ด)
  • น้ำมันงาขี้ม้อนสามารถช่วยทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้น ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และยังช่วยลดความอ้วนได้อีกด้วย
  • น้ำมันงาขี้ม้อน ช่วยรักษาผู้ป่วยที่มีระดับไขมันเลือดสูง และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยได้อีกด้วย เพราะ Docosahexacnoic acid ได้ถูกเปลี่ยนเป็น α-linolenic acid
  • น้ำมันงาขี้ม้อน มีโอเมกา3 สูงถึงร้อยละ 56 และเป็นโอเมกา 6 อีกร้อยละ 23 โดยมีข้อมูลที่ระบุว่างาขี้ม้อนเป็นพืชเพียงชนิดเดียวที่มีโอเมกา 3 และยังมีปริมาณของโอเมกา 3 มากกว่าน้ำมันปลาจากปลาทะเลน้ำลึกหลายเท่า
  • สารสกัดสำคัญในกลุ่ม Polyphenol ที่ได้จากใบงาขี้ม้อนคือ Rosmarinic acid ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านการแพ้ได้ดี และได้พัฒนาเป็นเจลจากสารสกัดต้นงาขี้ม้อนเพื่อเป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคผิวหนังอักเสบและโรคภูมิแพ้ นอกจากนี้ยังมีสารสำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ Luteolin ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและยับยั้งเซลล์มะเร็ง
  • มีการใช้น้ำมันจากเมล็ดรูปแบบของน้ำสลัดหรือมายองเนส เพื่อช่วยบรรเทาอาการแพ้และอาการหอบหืดในผู้ใหญ่ โดยการรับประทาน้ำมันจากเมล็ดวันละ 10-20 กรัม เป็นระยะเวลา 2-4 สัปดาห์ห้ามใช้น้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนกับหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และในผู้ที่แพ้งาขี้ม้อน

🔼วิธีเก็บรักษา🔼

ควรเก็บให้แห้งปิดให้มิดชิด ระวังไม่ให้เปียกชื้น ในอุณหภูมิปกติ 

ขอบคุณข้อมูลจาก 

http://www.teaoilcenter.org/index.php/publication/71-perilla
https://medthai.com/%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/
http://www.segrean.com/blog/%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99-8-th.html
https://www.xn--12cg1cxchd0a2gzc1c5d5a.net/%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/

ความคิดเห็น